โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

พิมพ์

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 17:42 น. เขียนโดย ผู้ดูแลระบบ วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 17:35 น.

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการดำเนินการโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการดำเนินการตามโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ต่อที่ประชุมองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้ดำเนินการโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพตามมาตรฐานบนพื้นฐานความหลากหลายในวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และความต้องการของชุมชน นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพื่อจัดระบบการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่โรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

 

ผลการดำเนินการ ได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา โดยประกอบด้วย ๒๒ โครงการที่สำคัญ

๑.  พัฒนาเครือข่ายวิทยุสื่อสาร มีการอบรมการใช้วิทยุสื่อสาร ๑,๘๗๓ คน ติดตั้งสถานีทวนสัญญาณ ๙ จุด และจัดซื้อวิทยุสื่อสาร ๘๒ เครื่อง

๒.  การสร้างรายได้ระหว่างปิดภาคเรียน ทำให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ทักษะด้านอาชีพ และมีรายได้ระหว่างปิดภาคเรียน ๒,๒๐๐ คน

๓.  มหกรรมวิชาการชายแดนภาคใต้  โดยมีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวน ๖๕,๘๘๐ คน ครุและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วม ๕,๘๒๐ คน

๔.  รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ โดยมีนักเรียนชั้น ม.๖ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมสอนเสริม รวมทั้งสิ้น ๑๐,๒๘๗ คน

๕.  สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  มีครูได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ๗๖ คน และระดับปริญญาเอก ๘ คน รวมทั้งสิ้น ๘๔ คน

๖.  การรักษาความปลอดภัยครูและสถานศึกษา  มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวน ๖๕๕ คน โดยเฉลี่ยได้รับรายได้คนละ ๕,๓๐๐ บาทต่อเดือน

๗.  การแข่งขันกีฬานักเรียนชายแดนภาคใต้ มีนักเรียนจาก สพป.๑๑ เขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน ๑,๖๕๐ คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ๑๑ สพป.เข้าร่วม ๑,๒๐๐ คน

๘.  พัฒนาหมู่บ้านครูแบบยั่งยืน ได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู ๙๙ หลัง อาคารเรียน-อาคารประกอบ ๒๕๓ โรง และอาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๒ แห่ง

๙.  ทุนการศึกษาภูมิทายาท ได้จัดสรรให้นักเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ๙๐๐ ทุนๆ ๕,๐๐๐ บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๑,๐๕๐ ทุนๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย ๑,๐๕๐ ทุนๆ ละ ๔๐,๐๐๐ บาท

๑๐. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน  มีสถานศึกษาที่ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน ๑,๓๐๓ โรง

๑๑. พัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายู) มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ๕๑ โรง ครูผู้สอนระดับปฐมวัยได้รับการอบรมพัฒนารูปแบบการสอน ๑๔๘ คน

๑๒. สนับสนุนโรงเรียนคู่ขนานศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ๔๔๐ ศูนย์ โดยมีการพัฒนาผู้สอนอิสลามศึกษา ๘๘๐ คน จัดหาสื่อวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนครบทั้ง ๔๔๐ ศูนย์

๑๓. พัฒนาการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ จำนวน ๓๕๐ โรง

๑๔. พัฒนาการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนของรัฐ โดยเครือข่ายคุณธรรม (บวร) จำนวน ๒๖๓ โรง

๑๕. งานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดค่ายลูกเสือเนตรนารีจาก ๑๓ เขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ และจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้าร่วมงานชุมนุมจำนวน ๑,๖๓๘ คน

๑๖. พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย  ซึ่งส่งผลให้นักเรียน ป.๓ ได้รับการพัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ ๔,๐๒๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕

๑๗. พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ  ในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ยะลา โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคาร จ.ปัตตานี โรงเรียนตากใบ จ.นราธิวาส โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ จ.สงขลา และโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จ.สตูล โดยมีนักเรียนได้รับการพัฒนา ๔,๒๕๐ คน ครู ๒๓๙ คน

๑๘. พัฒนาคุณภาพโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาระดับอำเภอ โดยให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนเป้าหมายทุกคนได้รับการพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอน นักเรียนได้รับการส่งเสริมและบูรณาการการเรียนรู้ในทุกสาระการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะชีวิตให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และห่างไกลยาเสพติด

๑๙. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาษาไทย ๑๔๐ คน คณิตศาสตร์ ๑๓๐ คน วิทยาศาสตร์ ๑๑๙ คน และภาษาอังกฤษ ๑๑๙ คน

๒๐. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานต่างประเทศ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

๒๑. โรงเรียนอุปถัมภ์  มีนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมโครงการโรงเรียนอุปภัมภ์ รวม ๒๖๔ คน จาก ๕๘ โรงทั่วประเทศ

๒๒. การวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา  มีงานวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ๑๐ เรื่อง การสร้างสื่อนวัตกรรม ๖๕ เรื่อง รูปแบบและเทคนิคการสอน ๑๕ เรื่อง บริหารการศึกษา ๑๑ เรื่อง และนิเทศการศึกษา ๕ เรื่อง

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน