ลงนามร่วมมือจัดการศึกษาชายแดนภาคใต้

PDFพิมพ์อีเมล

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๖) เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้จัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง ๔ หน่วยงาน ประกอบด้วยองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา ซึ่งปีที่ผ่านมาปรากฏผลเป็นที่น่าพึงพอใจ คือ มีการดำเนินการจัดการวิจัยในพื้นที่ สร้างเสริมยุววิจัย และสร้างภาคีเครือข่าย โดยทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือจัดการศึกษาในรูปแบบ “สร้างพลังในพื้นที่” เพื่อให้สอดรับกับปัญหาและความต้องการ 

จากผลการร่วมมือกันในระยะที่ ๑ พบว่าสามารถนำมาใช้ในการปรับกระบวนการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจร่วมกันในการอยู่ในพหุวัฒนธรรม ซึ่งความร่วมมือในระยะที่ ๒ จะให้การสนับสนุนชุดโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา ได้แก่ 

- โครงการวิจัยและพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพ เพื่อส่งเสริมการมีงานทำและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ระยะที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 
- โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 
- โครงการวิจัยและพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ระยะที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) 
- โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการสอนพหุวัฒนธรรมศึกษาและอิสลามศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 
- โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการการศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 
- โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ หรือการริเริ่มงานวิจัยบางลักษณะที่มีความจำเป็น ได้แก่ งานวิจัยเชิงพื้นที่บูรณาการ งานวิจัยด้านเด็กด้อยโอกาสและเด็กนอกระบบการศึกษา เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. และ สสค. 

ในส่วนการสนับสนุนเชิงนโยบายและปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนการวิจัยสู่การปฏิบัติในพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ ศอ.บต.จะสนับสนุนเชิงนโยบายในการขยายผลต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการวิจัย เพื่อพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการขยายผลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างกว้าง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทยโดยตรง 

นอกจากนี้ ได้ให้องค์กรหลักจัดตั้งงบประมาณ ๑๑๐ ล้านบาท และให้บริหารโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานโครงการความร่วมมือขององค์กรหลัก โดยหลักคิดของรัฐบาลเชื่อว่าการให้สังคมในภาคใต้กลับสู่สังคมสันติสุขนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสร้างค่านิยม ความเข้าใจ วิถีชีวิตให้ถูกต้องร่วมกัน ดังนั้นกลไกในการจัดการศึกษาต้องตอบโจทย์ในเรื่องนี้จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดตั้ง ศอ.บต. โดยมีรองผู้อำนวยการ ศอ.บต.ด้านการศึกษาด้วย 

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เมื่อเรามีฐานความรู้จากโครงการความร่วมมือการวิจัยนี้ สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ และจะเป็นกลไกสำคัญในขับเคลื่อนให้การศึกษาเป็นเครื่องมือไปสู่สันติสุขในระยะยาวต่อไป 

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

ที่มา : http://www.moe-news.net