แนวทางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือครูชายแดนภาคใต้

PDFพิมพ์อีเมล

 

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๓๐๗/๒๕๕๕
แนวทางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือครูชายแดนภาคใต้
 
 เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ที่อาคารรัฐสภา เกี่ยวกับแนวทางและมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการในการรักษาความปลอดภัย และการดูแลขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
รมว.ศธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติให้ปิดโรงเรียนและหยุดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดปัตตานีรวม ๓๓๒ โรง  ภายหลังเกิดเหตุผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จ.ปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิตว่า การคุ้มครองข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการปรับระบบและมาตรการต่างๆ ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีประชุมร่วมกันเป็นระยะๆ ระหว่างหน่วยงานทางการศึกษากับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เพื่อประสานเรื่องมาตรการต่างๆ ในการรักษาความปลอดภัยให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา ทั้งในเรื่องของพื้นที่ เส้นทาง และช่วงเวลาที่ให้การดูแล อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงจะต้องพยายามดูแลครูทุกคนในพื้นที่ให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างเต็มที่
 
ส่วนกรณีที่นางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ.จะเดินทางไปยังจังหวัดปัตตานีในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนนี้ เพื่อร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ พร้อมทั้งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย จากนั้นในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ คณะผู้แทนครูจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมาพบกับ รมว.ศธ.ที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการดูแลเรื่องขวัญและกำลังใจของครูด้วย และตนอาจจะลงพื้นที่ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
 
รมช.ศธ. กล่าวว่า การเดินทางไปจังหวัดปัตตานีในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนนี้ เพื่อหารือกับฝ่ายทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนสมาพันธ์ครูฯ เพื่อหารือถึงมาตรการการรักษาปลอดภัย การเยียวยา รวมทั้งพิจารณาข้อเรียกร้องขอเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยจากคนละ ๒,๕๐๐ บาท เป็น ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือนสำหรับครูที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ นอกจากนี้จะหารือถึงเส้นทางและช่วงเวลาที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ครูมีความมั่นใจมากขึ้น จากนั้นจะเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพในช่วงบ่ายด้วย
 
สำหรับข้อเสนอของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เรียกร้องมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาใน ๘ ข้อ คือ ๑) กำหนดให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เสี่ยงพิเศษ ๒) ให้มีการลาดตระเวนเส้นทางการรับส่งครู วางกำลังให้พร้อมและให้เจ้าหน้าที่ปรากฏตัวให้เด่นชัด ๓) ให้เจ้าหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือกรณีได้รับการร้องขอจากโรงเรียน ๔) ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณโรงเรียน ๕) ให้แจ้งโรงเรียนทราบทุกครั้งหากมีการปิดล้อมตรวจค้น เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกแก่ครูและนักเรียน ๖) หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่โรงเรียนเป็นสถานที่ปฏิบัติการทางยุทธวิธี ๗) ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่บุคลากรทางการศึกษา กรณีต้องสงสัยว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น ถูกออกหมายจับและหมาย พ.ร.ก. ๘) เร่งดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ถนน สะพาน และพิจารณาติดตั้งเครื่องมือพิเศษในพื้นที่โรงเรียน เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิด