โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ ปีงบประมาณ ๒๕๕๔

PDFพิมพ์อีเมล

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

 

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการได้รับทราบถึงโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ โดยปีงบประมาณที่ผ่านมาได้ประเมินสมรรถนะครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกคน คือ พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ๓๗,๔๑๔ คน และพัฒนาครู Master Teacher ๒๒,๙๗๐ คน แยกเป็นกลุ่มภาษาไทย-สังคมศึกษา-ภาษาอังกฤษ ๗,๘๓๒ คน, คณิตศาสตร์-ฟิสิกส์-ชีววิทยา-เคมี-โลก-ดาราศาสตร์-คอมพิวเตอร์ ที่สอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๒,๒๑๕ คน, แนะแนว-บรรณารักษ์-การศึกษาพิเศษ ๙,๕๓๐ คน, พลศึกษา-สุขศึกษา-การงาน-เทคโนโลยี-ศิลปะ-ดนตรี-นาฏศิลป์ ๓,๓๙๓ คน นอกจากนี้มีการจัดทุนให้ Master Teacher ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ๘๒๙ คน รวมทั้งพัฒนาด้วยระบบ e-Training ๓๒๘,๕๒๔ คน ตลอดจนพัฒนาผู้บริหาร ครู โดยการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Best Practice ในกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา 

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้มีแนวทางดำเนินการดังนี้ 

๑. พัฒนา Master Teacher รวม ๒๘,๒๒๔ คน แยกเป็นปฐมวัย ๖,๑๗๐ คน คณิต-วิทย์-ประถม ที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ๒๒,๐๕๔ คน
๒. พัฒนาครูระดับกลาง รวม ๒๗๙,๓๗๖ คน แยกเป็นกลุ่มสาระหลัก (ภาษาไทย-สังคม-อังกฤษ-คณิต-วิทย์) ๒๑๖,๘๓๒ คน กลุ่มวิชาแนะแนว-บรรณารักษ์-ปฐมวัย-การศึกษาพิเศษ ๔๗,๑๐๓ คน และกลุ่มพลศึกษา-สุขศึกษา-การงาน-เทคโนโลยี-ศิลปะ-ดนตรี-นาฏศิลป์ ๑๕,๔๔๑ คน 
๓. พัฒนาด้วยระบบ e-Training รวม ๒๐๘,๓๒๔ คน 
๔. จัดทุนให้ Master Teacher ศึกษาต่อปริญญาโท รวม ๘๓๓ คน 
๕. พัฒนาผู้บริหาร ครู โดยการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพระดับจังหวัด 

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาครูร่วมกับ สพฐ. คือ ๑) กลุ่มเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ โดยจะพัฒนาครูจำนวน ๗๖,๗๗๕ คน ๒) กลุ่มเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ ๙,๐๐๐ คน ๓) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ๒๐๖,๓๘๔ คน ๔) สถาบันการพลศึกษา พัฒนาครูระดับกลาง ๕,๒๒๙ คน ๕) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะดุริยางคศิลป์ พัฒนาครูดนตรี ๙๙๗ คน ๖) มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏสวนดุสิต พัฒนาครูระดับกลาง ๙,๒๑๕ คน 

วิธีการพัฒนาโดยกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้จัดให้มีการพัฒนาในกลุ่มเครือข่ายครูตามกลุ่มสาระและผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีแกนนำกลุ่มอย่างน้อย ๑:๕ คน 

กิจกรรมพัฒนาครู ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนากับสถาบันอุดมศึกษา มีการจัดเวทีหรือนิทรรศการซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับ Best Practice มีการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ ระดมปัญหาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน มีการจัดทำแผนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระ นอกจากนี้ได้นำแผนพัฒนาไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้ สพฐ. ด้วย 

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาครูทั้งระบบ ๑) ครูจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ทั้งเนื้อหาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเทคนิคการสอนใหม่ ๒) มีเครือข่ายพัฒนาครูต่อเนื่อง ๓) จะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ได้ฝากให้ สพฐ.พัฒนาครูทางด้านดนตรีในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ให้มากขึ้น เพราะมีการเรียกร้องจากครูผู้สอนจำนวนมาก นอกจากนี้ให้มีการบูรณาการพัฒนาครูทั้งระบบ โดยครอบคลุมถึงครูเอกชน กศน. และอาชีวศึกษา โดยใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัยให้เกิดผลประโยชน์อย่างจริงจัง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนา Master Teacher ให้มากขึ้นด้วย 

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

อ้างอิง : http://www.moe-news.net/